สิทธิมนุษยชน


สิทธิมนุษยชน นิยาม สิทธิมนุษยชน (Human Rights) คือสิทธิซึ่งประกาศว่าเป็น สิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้อันเป็นสิทธิที่ได้มาด้วยการเป็นมนุษย์เท่านั้นและเป็นสิทธิที่เป็นสากลและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน อาจเป็นได้ทั้งสิทธิโดยธรรมชาติหรือสิทธิทางกฎหมาย และอาจได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายแห่งรัฐ สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญมากที่สุดประเด็นหนึ่ง เป็นทั้งนโยบายการต่างประเทศและนโยบายสาธารณะภายในรัฐ ประชาคมโลกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าสิทธิมนุษยชนคือศีลธรรมสากลสำหรับโลกของเราที่รุ่มรวยด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการเมือง กระนั้น สิทธิมนุษยชนก็เป็นหัวข้อถกเถียงอันดุเดือดทั้งภายในรัฐและระบบระหว่างประเทศทั้งในด้านหลักการและการใช้งาน เนื่องจากเกี่ยวพันหรือคุกคามแนวคิดหลักจำนวนมากซึ่งมักเกี่ยวพันกับประเด็นจำพวกอำนาจของรัฐต่อประชาชนและการแทรกแซงอธิปไตยโดยใช้สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็น ที่มา สิทธิมนุษยชนตามความหมายในปัจจุบันนั้นย้อนกลับไปถึงยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของยุโรปซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ระบบศักดินาสวามิภักดิ์และอำนาจของศาสนจักรที่มีเหนืออาณาจักรในยุคกลาง โดยถือว่าสิทธิมนุษยชนยุคนั้นกำเนิดจากความพยายามของบรรดาปราชญ์ยุโรปในการแยกเอาจริยธรรมของมนุษย์ออกมาจากหลักการของคริสต์ศาสนาเพื่อสร้าง โลกียสิทธิ์อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับอำนาจเบื้องบน ในยุคนั้น การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมักจะควบคู่ไปกับสิทธิของพลเมืองท่ามกลางการแสวงหาและคิดค้นระบบการเมืองการปกครองและการจัดสรรสิทธิอำนาจระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง นักคิดคนสำคัญของยุคอย่าง ฮอบส์ (Hobbes) ล็อก (Locke) รุสโซ (Rousseau) หรือมองเตสกิเออ (Montesquieu) ต่างผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นการขับเคี่ยวระหว่างปรัชญาสายต่างๆ ในการสร้างรัฐสมัยใหม่จากเถ้าถ่านของรัฐศักดินา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสหรือระบบสาธารณรัฐที่มีกษัตริย์และมีบริษัทยักษ์ใหญ่คุมเศรษฐกิจของดัตช์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดบทบาท หน้าที่ และสิทธิที่พลเมืองพึงมีต่อรัฐและรัฐพึงมีต่อประชาชนทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า สิทธิมนุษยชนในยุคนั้นยังมิใช่สิทธิที่เป็นสากลสำหรับมนุษย์ทุกคน แม้หลักการจะคล้ายคลึงกันแต่สิทธินั้นจำกัดอยู่เฉพาะพลเมือง แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันยังมิได้แพร่หลายมากพอในขณะนั้น กฎหมายที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นคือพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689 (Bill of Rights) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ พระราชบัญญัติฉบับนี้จำกัดอำนาจของกษัตริย์ไม่ให้แทรกแซงการออกกฎหมายและการเลือกตั้ง เก็บภาษี มีกองทัพ และให้สิทธิกับสภาและพลเมืองในการปกครอง การถือครองอาวุธ และการแสดงความคิดเห็น (Yale’s Avalon project) เกือบหนึ่งร้อยปีหลังจากนั้น หลักสำคัญอีกสองหลักของสิทธิมนุษยชนได้เกิดขึ้นคือคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 ซึ่งระบุว่า เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข” (วิกิซอร์ส) และในปี ค.ศ. 1789 อีกหนึ่งหลักจากการปฏิวัติฝรั่งเศสคือคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง โธมัส เพน (Thomas Paine) จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John stuart Mill) และเฮเกล (Hegel) เป็นส่วนหนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่ช่วยพัฒนาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในยุคสมัยต่อมา และจุดประกายการเคลื่อนไหวว่าด้วยสิทธิต่างๆ มากมาย การค้าทาสถูกยกเลิกโดยจักรวรรดิอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานก็ทำสงครามกลางเมืองกันด้วยประเด็นว่าด้วยการเลิกทาส ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากกลายเป็นกระแสสังคม สิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิแรงงาน ไล่ไปจนถึงสิทธิในการปกครองตนเองและการเรียกร้องเอกราชโดยประเทศอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่สอง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีเยอรมัน และการกระทำ อาชญากรรมต่อมนุษยชาตินำไปสู่การก่อตั้งสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปฏิญญานี้จึงถือเป็นหลักสำคัญของสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับเท่ากัน มิอาจล่วงละเมิดได้ เพียงเพราะมนุษย์นั้นเป็นมนุษย์ ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ในมาตราที่ 4 ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” (ราชกิจจานุเบกษา) สิทธิของประชาชนไทยยังถูกบัญญัติอย่างละเอียดในหมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยโดยสรุปสิทธิเสรีภาพเป็นข้อๆ พอสังเขปได้ดังนี้ บททั่วไป: การใช้อำนาจของรัฐต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน รัฐต้องให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประชาชนมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ การจำกัดสิทธิเสรีภาพทำได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและห้ามกระทบสาระสำคัญของสิทธินั้น ความเสมอภาค: ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิเท่ากับประชาชน เว้นแต่ถูกจำกัดโดยกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย และจริยธรรม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล: ในร่างกาย เคหสถาน การเดินทาง ครอบครัว ชื่อเสียงเกียรติยศ การสื่อสาร ศาสนา การเกณฑ์แรงงานจะทำมิได้ ยกเว้นตามกฎหมายหรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม: หากไม่ได้กระทำผิดต้องไม่ได้รับโทษทางอาญา ในการพิจารณาคดีต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรม เปิดเผย เข้าถึงได้โดยง่าย และผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับการคุ้มครองหรือความช่วยเหลือตามความเหมาะสม สิทธิในทรัพย์สิน: สิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดกได้รับความคุ้มครอง การเวนคืนทรัพย์สินต้องกระทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและมีการชดเชยอย่างเป็นธรรม สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ: เสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแข่งขันทางธุรกิจ เว้นแต่ถูกจำกัดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ต้องมีหลักประกันสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน: เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทางต่างๆ ของบุคคลและสื่อมวลชนจะละเมิดมิได้ เว้นแต่เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อปกป้องสิทธิอื่นๆ ของผู้อื่น (ซึ่งจุดนี้หลายครั้งถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างของรัฐในการจำกัดเสรีภาพของสื่อ) (โปรดดู Transparency) สิทธิเสรีภาพในการศึกษา: ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน เสรีภาพทางวิชาการได้รับการคุ้มครองตราบที่ไม่ขัดกับศีลธรรมอันดีหรือหน้าที่ของพลเมือง สิทธิในการได้รับบริการสาธารสุขและสวัสดิการจากรัฐ: บริการสาธารณสุขขอรัฐสำหรับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เด็ก เยาวชน คนชรา ผู้พิการทุพลภาพ และผู้ยากไร้ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน: สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพิจารณา ร้องเรียน ร้องทุกข์กล่าวโทษหน่วยงานของรัฐ (โปรดดู Transparency) เสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม: เสรีภาพในการชุมนุม ทั้งนี้ โดยสงบปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมองค์กรประเภทต่างๆ เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง สิทธิชุมชน: สิทธิที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ: ห้ามใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญล้มรัฐธรรมนูญ ผู้ใดพบเห็นการกระทำที่จะล้มหรือส่อว่าจะล้มรัฐธรรมนูญมีสิทธิที่จะเสนอเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบ และชุมนุมโดยสันติเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าว หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรอิสระโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบและรายงานการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก ให้คำแนะนำในการร่างหรือปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในด้านสิทธิมนุษยชนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ชาวไทยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของตน (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบันคือการค้ามนุษย์ สิทธิในการชุมนุม การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพของสื่อมวลชนและการแสดงความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งถือเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานนั้น ยังมิอาจบรรลุได้ ตราบใดที่ไม่ยกเลิก หรือ แก้ไขตัวกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับ ที่หลายครั้งเป็นไปเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา หรือ การปิดกั้นมิให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ข้อสังเกตที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม หลักการสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันมีที่มาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุในมาตราที่ 1 ว่า มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ” (วิกิซอร์ส) หลักการสำคัญว่าด้วยสิทธิในปฏิญญา คือ สิทธิในการดำรงชีวิต ห้ามความเป็นทาสในทุกรูปแบบ ห้ามการทรมานและการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรม ห้ามการคุมขังหรือเนรเทศโดยพลการ สิทธิที่จะเป็นบุคคลตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายโดยเท่าเทียมไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากศาลที่เป็นธรรมและเปิดเผย โดยถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัวและเคหะสถาน เสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศ การออกจากประเทศและการกลับเข้าประเทศของตน สิทธิในการลี้ภัยออกจากประเทศของตนเองเพื่อหนีจากการประหัตประหาร สิทธิในการถือสัญชาติ สิทธิในการสมรสและการตั้งครอบครัว สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการนับถือศาสนา ลัทธิ แนวคิดความเชื่อต่างๆ และการประกาศและการปฏิบัติตามแนวคิดความเชื่อนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ความคิดเห็น สิทธิในการก่อตั้งสมาคมและการชุมนุมโดยสันติ สิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล สิทธิในการได้รับความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สิทธิในการทำงาน การเลือกงาน และได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สิทธิในการพักผ่อนในเวลาว่างและหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีและการศึกษา สิทธิที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม ที่สร้างและส่งเสริมบันเทิง ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ สิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ฉะนั้น สิทธิมนุษยชน กับ สิทธิพลเมือง (โปรดดู Civil Rights) จึงมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสิทธิพลเมืองนั้นเป็นสิทธิที่พลเมืองทุกๆ คนถึงมีในฐานะพลเมืองของรัฐ (ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันบ้าง) แต่สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกๆ คนบนโลกนี้พึงมีอย่างเหมือนๆ กันในฐานะ มนุษย์ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด หรือ เป็นพลเมืองของรัฐใดก็ตาม ดูเพิ่มใน ‘Transparency’, ‘Rights’ และ ‘Civil Rights’ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น